ธรรมะน่ารู้ จากพระไตรปิฎก และนานาสาระ มากมายที่ควรเรียนรู้ไว้
เรื่องที่ ( ๑ ). ชื่อเรื่อง บุญที่ยังผู้กระทำให้เจริญงอกงามตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
เทวดาทูลถามพระศาสดาว่า “...ชนพวกไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์ ?...”
พระศาสดาตรัสตอบว่า “...ชนเหล่าใดสร้างบุญ เช่นอาราม สวนดอกไม้ สะพาน โรงน้ำ ที่พักอาศัย ย่อมเป็นผู้เจริญทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้น ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมไปสวรรค์..”
สัง.ส. เทวตาสังยุต มก. ๒๔/๒๕๕, มจ. ๑๕/๖๑ , ปส. ๒๓/๑๕๖
“ อารามโรปา วนโรปา เย ชนา เสตุการกา ปปญฺจ อุทปานญฺจ เย ททนฺติ อุปสฺสยํ เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ สทา ปุญญํ ปวฑฺฒติ
ธมฺมฏฐา สีลสมฺปนฺนา เต ชนา สคฺคามิโน.”
แปลความว่า... ชนเหล่าใด สร้างอาราม ปลูกสวน สงวนป่า รักษาพันธุ์สัตว์ ชนเหล่าใดให้แหล่งน้ำเป็นทาน สร้างสะพานข้ามที่กันดารลำบาก สร้างที่พักอาศัย ชนเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีบุญ บุญเจริญแก่เขาอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอยู่โดยธรรม เขากำลังเดินทางมุ่งสู่สวรรค์ ทุกย่างก้าวแห่งชีวิต ! ”
( ๒ ). ว่าด้วยเรื่อง โพธิสัมมัชชกเถราปทาน
ผลแห่งการกวาดลานโพธิ์
พระโพธิสัมมัชชกเถระ กล่าวถึงบุพกรรมที่เก็บใบโพธิ์ ณ ลานพระเจดีย์ ทำให้มีอานิสงส์ ๒๐ ประการ คือ
๑. เมื่อเรายังท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมท่องเที่ยวไปแต่ใน ๒ ภพ คือในเทวดาและมนุษย์
๒. จุติจากเทวโลกแล้วมาสู่มนุษย์ ก็เกิด ก็เกิดแต่ใน ๒ สกุล คือสกุลกษัตริย์และสกุลพราหมณ์
๓. เรามีอวัยวะน้อยใหญ่สมบูรณ์สูงใหญ่ รูปสวย สะอาดสะอ้าน เต็มเปี่ยมไม่พร่อง
๔. เราเกิดในภพใด เรามีผิวพรรณเหมือนทองคำ ผิวของเราอ่อนนุ่ม สุขุม ละเอียดอ่อนอยู่ตลอดเวลา เพราะใบโพธิ์ที่เราเก็บไปทิ้งดีแล้ว
๕. ในคติไหนๆ ก็ตามที ฝุ่นละอองย่อมไม่ติดในสรีระของเรา นี้เป็นวิบากแห่งการทิ้งใบโพธิ์
๖. เพราะความร้อน ลม แดด หรือความร้อนของไฟ ที่ตัวของเราไม่มีเหงื่อไหล
๗. ในกายของเรา ไม่มีโรคเรื้อน ฝี กราก ตกกระ หูด หิดเปื่อย
๘. เมื่อเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่มีโรคในกาย
๙. เมื่อเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่มีความบีบคั้นที่เกิดขึ้นทางใจเลย
๑๐. เมื่อเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่มีใครเป็นข้าศึกเลย
๑๑. เมื่อเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมมีโภคทรัพย์ไม่พร่องเลย
๑๒. เมื่อเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่มีภัยแต่ไฟ พระราชา โจร น้ำ
๑๓. ทาสหญิง ชาย และคนติดตาม ย่อมย่อมประพฤติตามต้องการของเรา
๑๔. เราเกิดในมนุษยโลกในปริมาณอายุเท่าใด อายุของเราย่อมลดไปจากปริมาณอายุนั้น ย่อมดำรงอยู่ตราบเท่าสิ้นอายุ
๑๕. คนนอก ชาวนิคม ล้วนเป็นผู้ช่วยเหลือ ใคร่ให้ความเจริญ ปรารถนาให้ความสุขแก่เราทั้งสิ้น
๑๖. ในทุกๆภพ เราเป็นคนมีโภคทรัพย์ มียศ มีสิริ มีญาติพวกพ้อง ไม่มีเวร
๑๗. เมื่อเรายังท่อเที่ยวอยู่ในภพ เทวดา มนุษย์ อสูร ล้วนแต่ป้องกันเราทุกเมื่อ
๑๘. เราเสวยยศ ๒ อย่าง ทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก ในอวสานกาล เราได้บรรลุศิวโมกข์มหานฤพานอันยอดเยี่ยม
๑๙. บุรุษใดพึงได้บุญเพราะเจาะจงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของศาสดาพระองค์นั้น ปรารถนาสิ่งใดจะได้สิ่งนั้นโดยไม่ยาก
๒๐. เราย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่นๆ ในมรรคผล การศึกษาปริยัติ และคุณ คือ ฌาน และอภิญญา ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
เมื่อก่อนเรามีใจยินดีเก็บใบโพธิ์เอาไปทิ้ง จึงเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยองค์คุณ ๒๐ ประการนี้ในกาลทั้งปวง
จากพระไตรปิฎก ขุ.อป. ติณทายกวรรค มก. ๗๒/๑๙๙ , มจ. ๓๓/๒๒๔, ปส. ๘๓/๖๙
( ๓ ). ชคติทายกเถราปทาน
ว่าด้วยผลแห่งการพรวนดินโคนต้นโพธิ์
พระชคติทายกเถระ ได้กล่าวถึงภาษิตคาถาดังนี้ว่า
“ เรามีจิตเลื่อมใสมีใจโสมมนัส ได้ใช้ให้คนพรวนดินที่ไม้โพธิพฤกษ์ของพระมุนี พระนามว่าธัมมทัสสี อันเป็นต้นไม้สูงสุดกว่าไม้ทั้งหลาย
เราพลาดจากภูเขาหรือตกจากต้นไม้จุติแล้ว ย่อมได้ที่พึ่ง นี้เป็นผลของการพรวนดิน
โจรไม่เบียดเบียนเรา กษัตริย์ก็ไม่ดูหมิ่นเรา เราก้าวล่วงข้าศึกได้ทุกคน นี้เป็นผลของการพรวนดิน
เราเข้ากำเนิดใดๆ คือ เทวดา หรือมนุษย์ในกำเนิดนั้นๆ เราย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาทุกแห่งไป นี้เป็นผลของการพรวนดิน
ในกัปที่ ๑,๘๐๐ เราได้ใช้ให้คนพรวนดิน ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลของการพรวนดิน
เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้
ทราบว่า ท่านพระชคติทายกเถระ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗๒ ข้อที่ ๔๒ หน้าที่ ๗๘
( ๔ ). ปัญจทีปทายิกาเถรีปทาน
ผลของการถวายประทีป ๕ ดวง บูชาต้นโพธิตรัสรู้ของท่านพระปัญจทีปทายิกาภิกษุณี
“ ครั้งนั้น ดิฉันเป็นหญิงนักท่องเที่ยวอยู่ในพระนครหังสวดี ดิฉันต้องการกุศล จึงท่องเที่ยวไปตามวัดและอาราม ดิฉันได้พบไม้โพธิ์อันอุดมไนวันกาฬปักษ์ ดิฉันยังจิตให้เลื่อมใสในไม้โพธิ์นั้นแล้ว นั่งลงที่โคนโพธิ์
ดิฉันตั้งจิตอันประกอบด้วยความเคารพไว้ ประนมอันชลีเหนือเศียรเกล้า สำแดงถึงความโสมนัส แล้วคิดอย่างนี้ในทันใดนั้นว่า
ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีพระคุณนับไม่ได้ ไม่มีบุคคลอื่นเปรียบเสมอจริงไซร้ ขอให้แสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิด ขอให้ไม้โพธิ์นี้จงเปล่งรัศมี
ในทันใดนั้นเอง ไม้โพธิ์ก็ได้โพลงไปทั่วพร้อมกับที่ดิฉันนึก รัศมีนั้นสำเร็จด้วยสีทองล้วน ไพโรจน์ไปทั่วทิศ
ดิฉันนั่งอยู่ที่โคนโพธิ์นั้น ๗ คืน ๗ วัน เมื่อถึงวันเป็นคำรบ ๗ ดิฉันได้ทำการบูชาด้วยประทีป
ประทีป ๕ ดวงลุกโพลงรอบอาสนะ ครั้งนั้นประทีปของดิฉันลุกโพลงอยู่ จนถึงเวลาพระอาทิตย์อุทัย
เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ ดิฉันละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
วิมานที่ที่บุญสร้างสรรค์ให้ดิฉันอย่างสวยงาม ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เรียกว่า ปัญจทีปวิมาน สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
มีประทีปนับไม่ถ้วนส่องแสงสว่างล้อมดิฉัน ทั่วเทพพิภพโชติช่วงด้วยแสงประทีป
ดิฉันนั่งหันหน้าไปทิศบูรพาแล้ว ถ้าประสงค์จะดู ย่อมเห็นได้ด้วยจักษุทั้งเบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง
ดิฉันปรารถนาจะเห็นกรรมดีกรรมชั่วที่คนทำ ในที่มีประมาณเท่าใด ที่มีประมาณเท่านั้น ย่อมไม่มีต้นไม้หรือภูเขามากั้นกาง
ดิฉันได้เป็นพระอัครมเหสีของท้าวสักกเทวราช ๘๐ พระองค์ ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ พระองค์
ดิฉันเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ ประทีปจำนวนแสนส่องแสงสว่างล้อมดิฉัน
ดิฉันจุติจากเทวโลกแล้ว เกิดในครรภ์มารดา เมื่อดิฉันอยู่ในครรภ์มารดา นัยน์ตาของดิฉันไม่หลับ ประทีปจำนวนแสนดวง ส่องสว่างในเรือนประสูติของดิฉัน ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญกรรม นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
เมื่อถึงภพสุดท้าย ดิฉันกลับได้ฉันทะที่มีในใจเห็นนิพพานอันเป็นสภาวะเยือกเย็น ไม่มีชราและมรณะ
พอเกิดอายุได้ ๗ ขวบดิฉันได้บรรลุอรหัต พระพุทธเจ้าให้อิฉันอุปสมบท นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
เมื่อดิฉันอยู่ที่มณฑป โคนไม้ หรือในเรือนว่างเปล่า ประทีปส่องแสงสว่าง ให้ทุกเมื่อเชื่อวัน นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
ทิพยจักษุ ของดิฉันบริสุทธิ์ ดิฉันฉลาดในสมาธิ ถึงความบริบูรณ์ในอภิญญา นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
ดิฉันเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวง ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ข้าแต่พระมหาวีระผู้มีจักษุ หม่อมฉันผู้ชื่อว่าปัญจทีปาขอถวายบังคม พระยุคลบาทของพระองค์
ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ดิฉันได้ให้ทานใด ในกาลใด ด้วยทานนั้น ดิฉันไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
ดิฉันเผากิเลสทั้งหลายแล้ว...คำสอนของพระพุทธเจ้าดิฉันได้ทำเสร็จแล้ว ”
ทราบว่า ท่านพระปัญจทีปทายิกาภิกษุณีได้กล่าวคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล.